13 ชาติชิงชัย ‘สิงห์ ไทยแลนด์ อเมเจอร์ โอเพ่น’ที่ปัญญาอินทรา
สมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น, การกีฬาแห่งประเทศไทย และผู้ร่วมสนับสนุน จัดการแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นชิงชนะเลิศประเทศไทย สิงห์ ไทยแลนด์ อเมเจอร์ โอเพ่น 2024 ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งรายการที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ระหว่างวันที่ 17-20 กันยายน 2567 ณ สนามปัญญาอินทรา กอล์ฟคลับ (คอร์สบี และซี) พาร์ 70 ชายแข่งระยะ 6,812 หลา หญิงแข่งระยะ 6,008 หลา
กอล์ฟสมัครเล่นชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย สิงห์ ไทยแลนด์ อเมเจอร์ โอเพ่น จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 90 ใช้ระบบสโตรกเพลย์ 72 หลุม ระหว่างวันที่ 17-20 ก.ย.นี้ ผู้ชนะเลิศประเภทบุคคลชาย ได้ครองถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ส่วนประเภทบุคคลหญิง ครองถ้วยเกียรติยศ รังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ นายกสมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทยฯ โดยในปีนี้มีนักกอล์ฟจากประเทศต่าง ๆ 13 ชาติรวม 120 คน ได้แก่ เกาหลีใต้, กัมพูชา, อินเดีย, ฮ่องกง จีน, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ศรีลังกา, ไต้หวัน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ประเทศไทย
ในส่วนของนักกอล์ฟทีมชาติไทยร่วมแข่งขัน 21 คนแบ่งเป็นชาย 11 คน และหญิง 10 คน อาทิ “แชมป์เก่า” ฐิติกาญจน์ ธรรพสิทธิ์ ,ปริม ปราชญ์นคร และ พิมพ์พิศา รับรอง แชมป์ประเภททีมหญิง เอเชียน จูเนียร์กอล์ฟทีม ครั้งล่าสุดที่เกาหลีใต้, ปรินทร์ สารสมุทร รองแชมป์ประเภททีมชาย เอเชียน จูเนียร์กอล์ฟทีม ที่เกาหลีใต้ และ ธีรวุฒิ บุญสีออ แชมป์เยาวชนเอเชีย แปซิฟิค 2024 ที่ฟิลิปปินส์
โดยพิธีเปิดการแข่งขัน เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณสนามไดร์ฟปัญญาอินทรา กอล์ฟคลับ ได้รับเกียรติจาก นายรวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ กรรมการประชาสัมพันธ์ สมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธาน พร้อมด้วย นายธีธัช ควรตระกูล ผู้จัดการทั่วไปสนามกอล์ฟปัญญาอินทรา และนักกอล์ฟจาก 13 ชาติร่วมงาน
การแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นชิงแชมป์ประเทศไทย สิงห์ ไทยแลนด์ อเมเจอร์ โอเพ่น ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เป็นรายการแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2473 ที่ผ่านมามีนักกอล์ฟแถวหน้าของไทยที่เคยคว้าแชมป์รายการนี้ อาทิ บุญชู เรืองกิจ ปี 2526-2528, ถาวร วิรัตน์จันทร์ ปี 2529, ธรรมนูญ ศรีโรจน์ ปี 2532, ประหยัด มากแสง ปี 2533, ธงชัย ใจดี ปี 2541 และ พรหม มีสวัสดิ์ ปี 2543-2545