19 Dec 2024

สองล้อซีเกมส์ในไทย ชิงเหรียญทองครบ 4 ประเภท

Cycling008

“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี  เผยมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2568 จะมีการบรรจุการชิงเหรียญทองกีฬาจักรยานครบทั้ง 4 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทถนน, ลู่, เสือภูเขา และบีเอ็มเอ็กซ์ โดยจะยึดหลักรายการที่บรรจุในโอลิมปิกเกมส์และรายการชิงแชมป์โลกเป็นหลัก 

พลเอกเดชา เหมกระศรี

“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เริ่มเดินหน้าแผนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 7-19 ธันวาคม 2568 ทั้งในด้านการจัดการแข่งขันและการเตรียมนักปั่นไทยเพื่อเป้าหมายครองเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ในกีฬาจักรยาน โดยจะเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุการชิงเหรียญทองกีฬาจักรยานครบทั้ง 4 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทถนน, ลู่, เสือภูเขา และบีเอ็มเอ็กซ์ หลังจากที่เคยมีการแข่งขันครบทั้ง 4 ประเภทในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2554

พลเอกเดชา กล่าวว่า หลังจากกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศอินโดนีเซีย บรรดาประเทศที่เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์ในครั้งต่อ ๆ มา ได้แก่ เมียนมา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกัมพูชา ต่างก็ไม่ได้บรรจุการแข่งขันประเภทลู่เนื่องจากไม่มีสนามแข่งขัน ในขณะที่ซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ.2560 ไม่ได้บรรจุจักรยานประเภทเสือภูเขาโดยเจ้าภาพอ้างมติของสภากีฬาโอลิมปิกแห่งมาเลเซีย และในบางครั้งประเทศเจ้าภาพก็ไม่บรรจุรายการแข่งขันที่นักกีฬาของตัวเองไม่มีความหวัง ซึ่งการเสนอบรรจุรายการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 นี้ สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ จะยึดหลักรายการที่บรรจุในโอลิมปิกเกมส์และรายการชิงแชมป์โลกเป็นหลัก ตามแนวทางที่สหพันธ์กีฬาซีเกมส์วางนโยบายการพัฒนากีฬาซีเกมส์ในอนาคตเอาไว้

เสธ.หมึก กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการเตรียมนักกีฬาไทย จะเน้นไปที่การคัดสรรนักกีฬารุ่นใหม่ ผสมผสานกับนักกีฬาทีมชาติไทยชุดปัจจุบัน โดยฝ่ายเทคนิคและสตาฟฟ์ผู้ฝึกสอนทั้ง 4 ประเภทจะเริ่มเก็บข้อมูลคัดเลือกนักกีฬาไทยจากผลงานการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทยในแต่ละประเภทที่ทางสมาคมฯ จัดการแข่งขันกระจายไปในแต่ละภูมิภาค เริ่มตั้งแต่การแข่งขันจักรยานประเภทถนนชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์ภูมิพล” และจักรยานประเภทเสือภูเขาชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2567 สนามที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2567 ที่เขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สนามที่ 2 ที่จังหวัดระนอง, สนามที่ 3 ที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี, สนามที่ 4 ที่จังหวัดกำแพงเพชร และสนามที่ 5 ที่จังหวัดพิจิตร

นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ก็จะพิจารณานักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์สิริกิติ์” ประจำปี 2567 จำนวน 5 สนาม และการแข่งขันจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราช กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2567 จำนวน 5 สนามเช่นเดียวกัน รวมถึงนักปั่นหน้าใหม่ที่มีแววในการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาทางเรียบและประเภทถนน “ไทยแลนด์ โอเพ่น” ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2567 จำนวน 4 สนาม โดยมีการแข่งขันสนามที่ 1 ไปแล้วที่จังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 2-3 ธันวาคมที่ผ่านมา และยังเหลืออีก 3 สนาม ประกอบด้วย สนามที่ 2 ที่จังหวัดกำแพงเพชร, สนามที่ 3 ที่จังหวัดชัยนาท และสนามที่ 4 ที่จังหวัดสุโขทัย

พลเอกเดชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนแผนดำเนินการในการเก็บตัวฝึกซ้อม จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ว่าในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 จะใช้เวลาในการเก็บตัวฝึกซ้อมเท่าใด แต่อย่างน้อยที่สุด นักปั่นทีมชาติไทยซึ่งผ่านการคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024 ในประเภทถนนและบีเอ็มเอ็กซ์ ก็ได้เริ่มการฝึกซ้อมตามที่ได้รับอนุมัติในเดือนธันวาคม 2566 ไปจนถึงช่วงเวลาการแข่งขันคือปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ขณะที่ประเภทลู่และเสือภูเขา ก็ยังคงเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อการแข่งขันเก็บคะแนนอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นอย่างน้อย ดังนั้นมีโอกาสสูงที่นักกีฬาจักรยานไทยจะมีระยะเวลาเก็บตัวฝึกซ้อมต่อเนื่องเกือบ 2 ปีเต็มไปจนถึงซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี พ.ศ.2568

 “สำหรับนักกีฬาจักรยานที่อยู่ในข่ายที่จะติดทีมไทยชุดใหม่ ทางสตาฟฟ์ผู้ฝึกสอนแต่ละประเภทและฝ่ายเทคนิคของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ จะพิจารณาผลงานจากการแข่งขันทุกสนามตลอดทั้งปี 2567 และเมื่อมีการพิจารณาเสนอชื่อนักปั่นที่เหมาะสมเข้ามาแล้ว ก็จะต้องสอบถามถึงความสมัครใจของตัวนักกีฬาก่อนเป็นอันดับแรก รวมทั้งดำเนินการหารือกับสโมสรต้นสังกัด และผู้ปกครองของนักกีฬาในเรื่องการเก็บตัวฝึกซ้อมที่จะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด โดยเฉพาะเรื่องความมีระเบียบวินัย อันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการเป็นนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทย อีกทั้งความขยันหมั่นเพียร ความอดทนในการฝึกซ้อม ซึ่งหากนักกีฬารายใดไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางที่วางเอาไว้ได้ สมาคมฯ ก็จะเรียกนักกีฬารายอื่นเข้ามาทดแทนแทนทันที โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น” พลเอกเดชา กล่าวในที่สุด