ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 35 ปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่
การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 ปิดฉากลงอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 และสร้างความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรชาวไทยเป็นล้นพ้น ด้วยได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน (เป็นการส่วนพระองค์) ทรงร่วมการแข่งขันในทีมเรือใบรุ่นไออาร์ซี ซีโร่ (IRC Zero) หมายเลขเรือ THA72 ซึ่งในการแข่งขันวันสุดท้าย สามารถเข้าเส้นชัยได้เป็นที่ 1 ทั้งสองรอบ เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาร่วมการแข่งขันครั้งแรกในรอบ 35 ปี
อีกหนึ่งไฮไลต์ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่คนไทย คือ ทีมเรือไทย Pine Pacific โดยกัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ สามารถคว้าแชมป์คะแนนรวมในรุ่นพรีเมียร์ได้เป็นปีที่ 6 ประกาศศักดิ์ศรีทีมเรือไทยในทัวร์นาเมนต์ระดับโลก
ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าซึ่งจัดงานตั้งแต่วันที่ 2-9 ธันวาคม 2566 โรงแรมบียอนด์ กะตะ จังหวัดภูเก็ต ในปีนี้มีทั้งเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ และเรือใบเล็กอินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้คลาส เข้าร่วมแข่งขันรวมกว่า 150 ลำ สร้างโอกาสสำคัญในการพัฒนา ทักษะในสนามระดับสากลให้แก่จากนักกีฬาเยาวชน และมีส่วนช่วยสร้างและตอกย้ำชื่อเสียงภูเก็ตในการพัฒนาเป็นมารีน่าฮับเมืองท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก
ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ยังถือเป็นรายการสำคัญของทัวร์นาเมนต์ Asian Yachting Circuit ของการแข่งขันเรือใบในภูมิภาค ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของนักกีฬาเรือใบทั่วโลก โดยในปีนี้ มีเรือใบทุกประเภทเข้าร่วมในรายการภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้ามากกว่า 150 ลำ ดึงดูดทั้งนักกีฬา ผู้ติดตาม และผู้ที่ชื่นชอบกีฬาเป็นจำนวนนับพันคน สร้างความสนุกสนานเร้าใจทั้งในสนามแข่งขัน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนในจังหวัดด้วยเงินสะพัดมากกว่า 200 ล้านบาท ตลอดสัปดาห์การจัดงาน ทำให้งานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าในปีนี้ประสบความสำเร็จอย่างดงามและสมบูรณ์แบบ
นายเควิน รอเบิร์ตวิทคร๊าฟท์ประธานกรรมการจัดการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 35 กล่าวในพิธีปิดการแข่งขันว่า “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ถือเป็นงานแข่งขันเรือใบนานาชาติที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังเป็นการสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ปี พ.ศ. 2566-2570 เพื่อพัฒนา Marina Hub ให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ทั้งนี้จังหวัดภูเก็ตสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ในปีนี้การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ได้รับผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง มีเงินสะพัดกว่า 200 ล้านบาทตลอดสัปดาห์การจัดงาน ทั้งยังได้การตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักกีฬาเยาวชนที่ต้องการพัฒนาทักษะการเล่นในสนามระดับสากล อันจะเป็นอีกโอกาสสำคัญในการเฟ้นหานักกีฬาเยาวชนเพื่อเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาเรือใบต่อไป”
การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 ประกอบด้วยรายการแข่งขันเรือใบเล็ก “อินเตอร์เนชันแนลดิงกี้คลาส” จัดการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 3-5 ธันวาคม 2566 ประกอบด้วยรุ่นออปติมิสต์ ไอแอลซีเอ 4 โอเพ่นสกิฟฟ์ และ โมโนฮัลล์ ดิงกี้ แฮนดี้แคป โดยมีนักกีฬาเรือใบเยาวชนทั้งจากไทยและสโมสรเรือใบชั้นนำจากนานาประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งไทย ไต้หวัน มาเลเซีย จีน แคนาดา อินเดีย นิวซีแลนด์ สหพันธรัฐเซนต์คิตส์และเนวิส และสหรัฐอเมริกา
ไฮไลต์ของภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าคือรายการเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ซึ่งจัดการแข่งขันวันที่ 4-9 ธันวาคม 2566 ประกอบด้วย 7 รุ่น ได้แก่ ไออาร์ซี 0, พรีเมียร์, ไออาร์ซี 1, แบร์โบ้ตชาร์เตอร์, โมโนฮัลล์ครูซิ่ง, มัลติฮัลล์เรซิ่ง และมัลติฮัลล์ครูซิ่ง โดยมีทีมเรืรอใบใหญ่เดินทางมาร่วมการแข่งขันรวม 14 ชาติ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ เยอรมนี เบลเยียม เอสโตเนีย ฝรั่งเศส ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์
ภาพรวมการแข่งขันในปีนี้ สภาพอากาศดีเยี่ยม ท้องฟ้าสดใสและได้ลมดีตลอดสัปดาห์ โดยมีการจัดสนามแข่งขันทั้งคอร์สระยะสั้นและระยะไกลนอกชายฝั่ง โดยแล่นรอบเกาะต่าง ๆ ทั้งเกาะเฮย์ เกาะแก้วน้อย และอีกมากมาย ทำให้ทีมเรือใบได้ร่วมแข่งขันกันอย่างสนุกสนานท่ามกลางทัศนียภาพทางทะเลอันงดงาม และสร้างความประทับใจให้กับนักกีฬาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ทั้งนักกีฬาที่เคยมาร่วมลงแข่งในภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าแล้วหลายครั้งและนักกีฬาที่เดินทางมาแข่งขันรายการภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าเป็นครั้งแรก
ผลการแข่งขันคะแนนรวมรายการเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์
ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 35 ประจำปี 2566
- รุ่นไออาร์ซี 0 – ที่ 1 ทีมเรือ Team Hollywood โดยเรย์มอนด์ โรเบิร์ต จากออสเตรเลีย; ที่ 2 ทีมเรือ Callisto โดยเจมส์ และเคต เมอร์เรย์ จากสหรัฐฯ; และที่ 3 ทีมเรือ Vayu THA 2 โดยเควิน และทอม วิทคร๊าฟท์ จากไทย
- รุ่นพรีเมียร์– ที่ 1 ทีมเรือ Pine Pacific โดยอิทธินัย ยิ่งศิริ จากไทย; ที่ 2 ทีมเรือ Shahtoosh โดยปีเตอร์ เครเมอร์ส จากเบลเยียม; และที่ 3 ทีมเรือ Yasooda โดยฮานส์ ราห์มานน์ จากเยอรมนี
- รุ่นไออาร์ซี 1 – ที่ 1 ทีมเรือ Witchcraft โดยกัปตันนิก เบิร์นส์ จากฮ่องกง; ที่ 2 ทีมเรือ The Next Factor โดยรอล์ฟ ฮีนเชิร์ก จากมาเลเซีย; และที่ 3 ทีมเรือ Ramrod โดยเครก ดักลาส และกอร์ดอน เคเทลบี จากออสเตรเลีย
- รุ่นแบร์โบ้ตชาร์เตอร์ – ที่ 1 ทีมเรือ Dragonborn โดยกัปตันทิฟฟานี คู และดีน เพ็ง จากจีน; ที่ 2 ทีมเรือ Piccolo โดยไมค์ ดอว์นาร์ด จากไทย; และที่ 3 ทีมเรือ Hippocrates โดยโทชิฮิโกะ ลิจิมะ จากญี่ปุ่น
- รุ่นโมโนฮัลล์ครูซิ่ง– ที่ 1 ทีมเรือ Swan II โดยกัปตันฟิลลิปเป ดัลลี จากสิงคโปร์; ที่ 2 ทีมเรือ Enavigo โดยสตีฟ เมน จากสหราชอาณาจักร; และที่ 3 ทีมเรือ Isabella โดยลูคุน หวัง จากจีน
- รุ่นมัลติฮัลล์เรซิ่ง – ที่ 1 ทีมเรือ Kata Rock Parabellum โดยกัปตันแดน ฟิด็อค จากออสเตรเลีย; ที่ 2 ทีมเรือ Kata Rock 2 Twin Sharks โดยจอห์น นิวแมน จากสหราชอาณาจักร
- รุ่นมัลติฮัลล์ครูซิ่ง – ที่ 1 ทีมเรือ Trident โดยกัปตันแอนดริว แม็คเดอร์มอตต์ จากสหราชอาณาจักร; ที่ 2 ทีมเรือ Team No Escape โดยแฟรงค์ คาสเทลีน จากเนเธอร์แลนด์
ผลการแข่งขันคะแนนรวมรายการเรือใบเล็ก “อินเตอร์เนชันแนลดิงกี้คลาส”
ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 35 ประจำปี 2566
- รุ่นออปติมิสต์รวม – พชรพรรณ องคะลอย จากไทย
- ไอแอลซีเอ 4 – นัณวธรณ์ ศุภอัมพลวิชญ์ จากไทย
- โอเพ่นสกิฟฟ์ – อานันดิ ชานดาวาร์การ์ (Anandi Chandavarkar) จากอินเดีย
- โมโนฮัลล์ดิงกี้แฮนดี้แคป – คลาวเดีย นาซารอฟ จากไทย