‘ทัวร์ออฟไทยแลนด์ 2024’ สตาร์ตพระราชวังจันทน์ไปเข้าเส้นชัยศรีเทพ
ศึกสองล้อทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2024” จัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 69 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2567 กำหนดเส้นทางแข่งขันสนองนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล โดยเริ่มสตาร์ตจากพระราชวังจันทน์ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไปสิ้นสุดที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเผยแพร่โบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก ยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เตรียมจัดการแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2024” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน 2567 ซึ่งมีการลงทะเบียนกับสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ในระดับ 2.1 โดยประเภททีมชายแข่งขัน 6 สเตจ ระหว่างวันที่ 1-6 เมษายน เส้นทางในจังหวัดพิษณุโลก-อุตรดิตถ์-สุโขทัย-กำแพงเพชร-พิจิตร-นครสวรรค์-เพชรบูรณ์ ระยะทางรวม 992.95 กิโลเมตร ส่วนทีมหญิง แข่งขัน 3 สเตจ ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน เส้นทางในจังหวัดพิษณุโลก-อุตรดิตถ์-สุโขทัย-เพชรบูรณ์ ระยะทางรวม 257.70 กิโลเมตร รวมระยะทั้งสิ้น 1,250.65 กิโลเมตร
พลเอกเดชา กล่าวว่า การแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์” มีวัตถุประสงค์จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี โดยในปี 2567 นี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 69 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2567 โดยพิธีเปิดการแข่งขันในแต่ละสเตจ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือประธานในพิธีจะเป็นผู้นำกล่าวถวายพระพรชัยมงคล มีการจัดซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้ปวงพสกนิกรชาวไทยร่วมลงนามถวายพระพร เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์ ก่อนจะมีการปล่อยขบวนนักกีฬาในแต่ละวัน นอกจากนั้นตลอดเส้นทางแข่งขันจะมีพี่น้องประชาชนพร้อมใจกันสวมเสื้อสีม่วง แล้วนำธงชาติไทย และธงพระนามาภิไธยย่อ “สธ.” มาโบกให้การต้อนรับขบวนนักกีฬา
“สำหรับการแข่งขันในปีนี้จะมีการมอบรางวัลให้แก่นักกีฬาอาเซียนยอดเยี่ยม และรางวัลประเภททีมอาเซียนยอดเยี่ยมทั้งประเภททีมชายและทีมหญิง นอกเหนือจากรางวัลที่ได้กำหนดเอาไว้ตามระเบียบการแข่งขัน ได้แก่ รางวัลชนะเลิศผู้นำเวลารวม ซึ่งจะได้ครองถ้วยพระราชทานฯ, รางวัลชนะเลิศผู้นำคะแนนรวมเจ้าความเร็ว, รางวัลชนะเลิศเจ้าภูเขา, รางวัลชนะเลิศเวลารวมประเภททีม โดยรางวัลนักกีฬาอาเซียนยอดเยี่ยม กำหนดคุณสมบัติเอาไว้ว่าต้องเป็นนักกีฬาที่มีสัญชาติอยู่ในภูมิภาคอาเซียน และต้องสังกัดทีมที่จดทะเบียนเป็นทีมอาชีพในประเทศกลุ่มอาเซียน หรือเป็นนักกีฬาทีมชาติในกลุ่มอาเซียน ขณะที่รางวัลประเภททีมอาเซียนยอดเยี่ยม ต้องมีคุณสมบัติคือจดทะเบียนเป็นทีมอาชีพในประเทศกลุ่มอาเซียน และต้องมีนักกีฬาสัญชาติอาเซียนสังกัดอยู่ในทีมอย่างน้อย 4 คน จากนักกีฬาทั้งหมด 6 คนสำหรับประเภททีมชาย ส่วนประเภททีมหญิงต้องมีนักกีฬาสัญชาติอาเซียนสังกัดอยู่ในทีมอย่างน้อย 3 คน จากนักกีฬาทั้งหมด 5 คน หรือเป็นทีมชาติจากกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น” พลเอกเดชา กล่าว
นายกสองล้อไทย กล่าวต่อไปว่า ด้านเส้นทางการแข่งขัน สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้สนองนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยกำหนดเส้นทางการแข่งขันผ่านโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของประเทศไทย เป็นการเผยแพร่ให้ทั่วโลกได้รับทราบว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน ผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ และยูทูบ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยการแข่งขันจะเริ่มสตาร์ตเสตจจากโดยเริ่มสตาร์ตจากพระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีความสำคัญเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไปสิ้นสุดที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า การถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในแต่ละสเตจ ก็จะมีการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดที่เป็นเส้นทางผ่าน เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดใหญ่, พระราชวังจันทน์, ภูเขาหินปูนบ้านมุง จังหวัดพิษณุโลก, อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, เกาะรูปหัวใจ ทุ่งทะเลหลวง จังหวัดสุโขทัย, บึงสีไฟ, สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดพิจิตร, อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร, พุทธอุทยานเพชบุระ, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็เป็นการร่วมเฉลิมฉลองที่องค์การยูเนสโก ได้พิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นับเป็นโอกาสที่จะได้เผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงามของไทย สมาคมกีฬาจักรยานฯ จึงเตรียมจัดพิธีรดน้ำดำหัว โดยให้นักกีฬาจากทุกชาติได้ร่วมรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และร่วมสนุกเล่นสงกรานต์ เป็นการสนองนโยบายซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง
สำหรับทีมระดับอาชีพ และทีมชาติต่าง ๆ ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ประเภททีมชาย มี 15 ทีม ประกอบด้วย ทีมไทยแลนด์ คอนติเนนตัล ไซคลิง, ทีมชาติไทย, ทีมตรังกานู โพลีกอน ไซคลิง (มาเลเซีย), ทีมรู้ใจ อินชัวแรนซ์ (ไทย), ทีมเจซีแอล อูเกียว (ญี่ปุ่น), ทีมไชน่า กลอรี คอนติเนนตัล ไซคลิง (จีน), ทีมชาติสิงคโปร์, ทีมนูซันทารา ไซคลิง (อินโดนีเซีย), ทีมแกรนท์ ธอร์นตัน ไซคลิง (ไทย), ทีมชาติไต้หวัน, ทีมเซนต์จอร์จ คอนติเนนตัล ไซคลิง (ออสเตรเลีย), ทีมแอลเอ็กซ์ ไซคลิง (เกาหลีใต้), ทีมโก ฟอร์ โกลด์ (ฟิลิปปินส์), ทีมชาติฮ่องกง, ทีมมาเลเซีย โปร ไซคลิง (มาเลเซีย) ส่วนประเภททีมหญิง มีจำนวน 12 ทีม นำโดย ทีมไทยแลนด์ วีเมนส์ ไซคลิง, ทีมชาติไทย, ทีมชาติเวียดนาม, ทีมชาติไต้หวัน, ทีมชาติมาเลเซีย, ทีมชาติฮ่องกง, ทีมชาติอินโดนีเซีย, ทีมชาติฟิลิปปินส์, ทีมชาติจีน, ทีม Prime 19 (ไทย), ทีมทาชเคนท์ ซิตี้ (อุซเบกิสถาน), ทีมชาติคาซัคสถาน
ด้านเส้นทางการแข่งขันประเภททีมชาย สเตจที่ 1 วันที่ 1 เมษายน 2567 เส้นทางจากพระราชวังจันทน์ (หน้าทางเข้าศาลสมเด็จพระนเรศวร) จังหวัดพิษณุโลก – อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย (ระยะทาง 131 กิโลเมตร), สเตจที่ 2 วันที่ 2 เมษายน 2567 เส้นทางจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย – อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร – อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย (ระยะทาง 202.30 กิโลเมตร), สเตจที่ 3 วันที่ 3 เมษายน 2567 เส้นทางจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย – ปั่นรอบทุ่งทะเลหลวง 8 รอบ – กลับมาที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย (ระยะทาง 135.35 กิโลเมตร)
สเตจที่ 4 วันที่ 4 เมษายน 2567 เส้นทางจากพระราชวังจันทน์ (หน้าทางเข้าศาลสมเด็จพระนเรศวร) จังหวัดพิษณุโลก – ภูเขาหินปูนบ้านมุง – พุทธอุทยานเพชบุระ จังหวัดเพชรบูรณ์ (ระยะทาง 186.50 กิโลเมตร), สเตจที่ 5 วันที่ 5 เมษายน 2567 เส้นทางจากพระราชวังจันทน์ (หน้าทางเข้าศาลสมเด็จพระนเรศวร) – อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก – บึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร (ระยะทาง 156 กิโลเมตร), สเตจที่ 6 วันที่ 6 เมษายน 2567 เส้นทางจากบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร – อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ – อำเภอบึงสามพัน – อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ (ระยะทาง 181.8 กิโลเมตร)
ส่วนประเภททีมหญิง สเตจที่ 1 วันที่ 8 เมษายน 2567 เส้นทางจากพระราชวังจันทน์ (หน้าทางเข้าศาลสมเด็จพระนเรศวร) จังหวัดพิษณุโลก- ทุ่งทะเลหลวง จังหวัดสุโขทัย (ระยะทาง 114 กิโลเมตร), สเตจที่ 2 วันที่ 9 เมษายน 2567 เส้นทางจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย – ปั่นรอบทุ่งทะเลหลวง 6 รอบ – อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย (ระยะทาง 85.20 กิโลเมตร), สเตจที่ 3 วันที่ 10 เมษายน 2567 เส้นทางภายในจังหวัดเพชรบูรณ์ จากอำเภอบึงสามพัน – อำเภอวิเชียรบุรี – อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ (ระยะทาง 59.60 กิโลเมตร).